9 จุด เด่นของแผง N-type เหนือแผงโซลาร์เซลล์ P-type ปกติ

อีกเรื่องที่คนติดโซลาร์เซลล์ควรรู้ไว้คือ แผงที่เราจะใช้เป็นแผง Mono ชนิดไหนด้วยครับ ในตลาดตอนนี้ใช้ P-type กันเป็นหลัก แต่อนาคตไม่เกิน 4 ปี แผง N-type น่าจะกินสัดส่วนเกิน 50% แน่ๆ เพราะประสิทธิภาพมันดีขึ้นระดับหนึ่งเลย แล้วราคาก็ไม่ได้ต่างกันเยอะมากแล้วด้วย

บทความนี้จะมาเล่าจุดเด่นประมาณ 9 ข้อของ N-type ให้อ่านนะครับ

1. N-type ใช้ Phosphorus เป็น Base layer

ข้อแตกต่างที่ชัดที่สุดของแผง P-type กับ N-type คือ “สารเคมีที่เลือกใช้เป็น Base layer” ครับ P-type จะใส่ Boron ลงไปเป็น Base layer ก่อนหลังจากนั้นจะใส่ Phosphorus เพื่อสร้างชั้นบนสุดของเซลล์ ผลลัพธ์จะทำให้กระแสไฟฟ้าไหลจาก “บนลงล่าง”

สลับกันกับฝั่ง N-type ที่ใช้ Phosphorus เป็น Base layer แล้วเอา Boron มาไว้ที่ชั้นบนสุดของเซลล์ ผลลัพธ์จะทำให้กระแสไฟฟ้าไหลจาก “ล่างขึ้นบน”

ผลลัพธ์ที่ได้คือต้นทุนแผงจะแพงมากขึ้น แต่ข้อดีที่ได้มาก็คุ้มค่าอยู่ครับ ซึ่งมีดังนี้..

2. ทนการเสื่อมสภาพของเซลล์จากแสง (LID) ได้ดีขึ้น

ปัญหาของแผง P-type ที่ใช้ Boron เป็น base layer คืออาการ Boron-oxygen defect ที่ทำให้แผงโซลาร์เซลล์เสื่อมสภาพที่เรียกว่า Light-Induced Degradation (LID) ค่อนข้างสูง บางเคสอาจจะมีถึง 10% จากประสิทธิภาพสูงสุดเลยด้วยซ้ำ (ขอให้โชคดีไม่เจอนะครับ)

แต่สำหรับแผง N-type ที่เปลี่ยนมาใช้ Phosphorus แทน ทำให้ไม่เกิดปฏิกิริยา Boron-oxygen defect อะไรนั่น เลยอุ่นใจได้เลยเรื่อง ที่เรียกว่า LID ครับ

3. รับประกันประสิทธิภาพแผงยาวขึ้นจาก 25 ปี เป็น 30 ปีที่ประสิทธิภาพแผง 87.4%

P-type ทั่วไปจะรับประกันประสิทธิภาพแผง 25 ปีที่ประสิทธิภาพสูงสุด 83.1% แต่ด้วยเทคโนโลยีนี้ที่ไม่มีปัญหา LID เลยทำให้ผู้ผลิตกล้ารับประกันยาวเป็น 30 ปีที่ประสิทธิภาพแผง 87.4% เลยด้วย ผมเลยมองว่าถ้าใครสะดวกเพิ่มงบนิดหน่อย การเลือกใช้ N-type แต่แรกก็น่าจะคุ้มขึ้นในระยะยาวครับ

ปล. รูปจากแผง JA solar 620W N-type Bificial ครับ

4. รีดประสิทธิภาพในการแปลงแสงเป็นไฟฟ้าได้ 25.7% (ปกติ 23.6%)

ข้อดีสำคัญอีกอย่างที่เปลี่ยนมาใช้ Phosphorus เป็น Base layer คือกระบวนการ Recombination จะมี Loss น้อยลงมาก ทำให้รีดประสิทธิภาพสูงสุดในการแปลงความเข้มแสงเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ 25.7% เป็นต้นไป (แต่ละแบรนด์จะได้ต่างกันไป) จากปกติของ P-type ที่ทำได้ไม่เกิน 23.6% เท่านั้น ส่วนต่างเท่านี้ ในระยะยาวจะมีผลมากครับ

5. แผงทำงานได้ดีมากขึ้นในสภาพอากาศที่ร้อนแบบไทย

แม้โซลาร์เซลล์จะใช้แสงในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ในความเป็นจริง การผลิตไฟฟ้าของโซลาร์จะใช้ความเข้มแสงเท่านั้น หากอากาศบนหลังคานั้นร้อนมากๆ ประสิทธิภาพก็จะลดลงเช่นกัน ซึ่งปกติแผงจะทำงานได้ 100% ที่อุณหภูมิ 25 °C เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศา ประสิทธิภาพแผง P-type จะลดลง 0.35% แต่สำหรับ N-type จะลดลงแค่ 0.30% ต่อ 1°C เท่านั้น

ดังนั้น ถ้าบนหลังคา 50°C P-type จะดรอปลง 8.75% แต่ N-type จะดรอปลง 7.5% ส่วนต่างเล็กๆน้อยๆนี้ก็มีผลในระยะยาวครับ

6. ผลิตกระแสไฟฟ้าในที่แสงน้อยได้ดีกว่าปกติ

ข้อดีที่คนใช้งานหลายคนน่าจะสังเกตได้คือ แผง N-type จะผลิตไฟฟ้าได้เร็วกว่า P-type ครับ ถ้าดูใน Fusionsolar จะเห็นตอนประมาณ 6 โมงเช้าเลยว่าแผงมันเริ่มผลิตไฟแล้ว เนื่องจาก N-type มีความไวต่อแสงความยาวคลื่นยาวสูงกว่า ทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดีขึ้นในสภาพแสงน้อยครับ

7. มีมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิตน้อยกว่า

ด้วยความที่อายุการใช้งานของแผงที่อยู่ได้นานขึ้น และประสิทธิภาพของแผงต่อ 1 ตร.ม. ดีขึ้น ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ส่วนหนึ่งเช่นกัน (แม้จะไม่มากก็ตาม) ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นอีกเรื่องที่ N-type ได้เปรียบ P-type อยู่ระดับหนึ่งครับ

8. คิดเผื่อการซ่อมบำรุงในอนาคต

ปัจจุบันแผงชนิด P-type ยังครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 70% แต่ในตอนนี้ที่เทรนด์ของ N-type เริ่มมา ประกอบกับต้นทุนในการผลิตที่แทบจะไม่ได้ต่างกันมากเมื่อผลิตจนได้ Economy of scale ทาง ITRPV หรือหน่วยงานนานาชาติที่สำรวจเรื่องโซลาร์เซลล์ได้คาดการณ์ว่า ปี 2027 Market share ของ N-type จะเกิน 50% และปี 2033 จะกินส่วนแบ่งกว่า 70%

ดังนั้น ถ้าแผงเกิดมีการชำรุดขึ้นมาในอนาคต 10–20 ปี แผง P-type น่าจะหาอะไหล่เปลี่ยนได้ง่ายกว่าครับ

9. ประสิทธิภาพโดยรวมดีกว่า P-type โดยเฉลี่ย 5–20%

โดยสรุปแล้ว ด้วยข้อดีที่เล่ามาทั้งหมดเกี่ยวกับแผง N-type น่าจะพอเห็นภาพนะครับว่ามันดีกว่าแทบทุกส่วนจริงๆ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยมาว่าประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจะดีกว่า P-type 5–20% ถึงราคาตอนนี้ยังแพงกว่า แต่การได้ประสิทธิภาพแผงในระยะยาวที่ดีกว่าจะทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) คุ้มกว่า P-type แน่นอนครับ

ถ้าใครจะติดโซลาร์เซลล์ตอนนี้ ลองเชคถามเรื่องนี้กับบริษัทด้วยก็ดีนะครับ หรือถ้าเค้าไม่มี ผมว่ารีเควสเลยก็ได้เหมือนกันครับ

--

--

Parit Boonluean (พริษฐ์ บุญเลื่อน)

Co-founder Wise energy solution. No types of articles, Depend on subject I am interesting with, mostly book summary, economics, lifestyle, DeFi, Solar energy