Cryptocurrency ในปี 2023 จะเป็นอย่างไร

Midjourney

สำหรับปี 2022 คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือฤดูหนาวที่แท้จริงของคริปโทเคอร์เรนซี ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคอย่างเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่สูงมาก ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องใช้ไม้แข็งประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 4.25% ซึ่งเร็วและสูงที่สุดในรอบ 15 ปีและในปี 2023 นี้แม้ว่าจะมีแนวโน้มเงินเฟ้อที่ลดลง แต่ก็ยังทำเพียงการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ลดลงและจะไม่มีการลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ สิ่งนี้กดดันตลาดที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงเช่น ตลาดหุ้นและคริปโทเคอร์เรนซี เพราะการขึ้นดอกเบี้ยทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น เม็ดเงินลงทุนในตลาดจึงลดลง เช่น ราคา Bitcoin ติดลบ 65% ในปีนั้น ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของเหรียญจะปรับตัวลงไปมากกว่านั้นที่ 70% และมีเลิกพัฒนาจนต้องมูลค่าเหลือศูนย์ก็มี นอกจากนี้สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ประทุตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าจะลากมายาวนานขนาดนี้ ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินดอลลาร์แข็งในช่วงต้น-ปลายปี กดดันราคาคริปโทเคอร์เรนซีอีกเช่นกัน

แต่ตลาดหุ้นและคริปโทเคอร์เรนซีก็ไม่ได้วิ่งไปในทางเดียวกันตลาดทั้งปี เนื่องจากปัจจัยภายในของคริปโทเคอร์เรนซีอย่าง “วิกฤตการล่มสลายของ Terra” ทำให้เหรียญ Top 10 อย่าง UST Algorithmic Stablecoin ที่มูลค่าควรอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐเหลือ 0.006218 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ -99.99% และ LUNA ที่เคยมี Market Cap 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าจาก 84 ดอลลาร์สหรัฐต่อเหรียญ เหลือ 0.00001675 ดอลลาร์สหรัฐ หรือแทบจะ -100% ในเวลาไม่ถึง 1 อาทิตย์ทันทีจากโมเดลการสร้าง Stablecoin ของ UST ที่ใช้การ Mint&Burn LUNA ที่ไม่สามารถรับมือตลาดขาลงและการโจมตีจากนักลงทุนรายใหญ่ที่หวังเอาผลประโยชน์จากการ Short Bitcoin เพราะ Luna Foundation Guard (LFG) ต้องเทขาย 80,394 BTC (2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในคลังเพื่อช่วยพยุง UST แต่สุดท้ายก็ช่วยไม่ไหว ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีจึงเข้าสู่ขาลงอย่างชัดเจนตั้งแต่วิกฤตในครั้งนั้น

ซึ่งผลกระทบที่ตามมาของการล่มสลายของ Terra ทำให้เกิดการล้มละลายของกองทุนและบริษัทที่ลงทุนใน Terra เช่น Three Arrows Capital ที่เคยดูแลเงินลงทุนกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Voyager กับ Celsius ที่ประกาศล้มละลายตามมาตร 11 ในเวลาต่อมาไม่กี่เดือน ยังไม่รวมถึงอีกหลายบริษัทที่ได้รับการขาดทุนที่หนักจากการลงทุนใน Anchor Protocol ที่อยู่บน Terra Blockchain โดย Zipmex เองก็ได้รับผลกระทบในส่วนนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดจาก Terra คือ “การล้มละลายของ FTX” Crytpucrrency Exchange ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจาก Binance ในช่วงปลายปี ที่มีการเปิดเผยว่า “แอบนำเงินลูกค้าไปลงทุนโดยไม่ได้รับอนุญาต” และขาดทุนหนักตั้งแต่ตอน Terra ล่มสลายแล้ว วิกฤตในครั้งนี้ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนสถาบันต่อตลาดคริปโทเคอร์เรนซีอย่างมากเพราะ FTX เป็น Exchange ที่กองทุนและนักลงทุนสถาบันนิยมใช้งานจากเครื่องมือทางการเงินที่สะดวก จึงมีผู้เสียหายเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดการเงินดั้งเดิม เช่น Paradigm, Temasek, SoftBank, กองทุนการเกษียญครูในรัฐ Ohio และ Hedge Fund อีกมากมาย

ปี 2022 จึงเป็นปีที่หนักหน่วงสำหรับคริปโทเคอร์เรนซีอย่างแท้จริง แต่นั่นก็เป็นเพียงด้านราคาและความเชื่อมั่นเท่านั้น เพราะโปรเจกต์ที่ไม่ได้รับผลกระทบทางตรงนั้นยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเสมอ ดังนั้น ปี 2022 อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “หลุม (Bottom)” และปี 2023 จะเป็นปีแห่ง “การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง (Recovery)” ด้วยเห็นผลหลายประการงดังนี้

การเติบโตด้านการใช้งานของ Bitcoin
แม้ว่าในปี 2022 ราคา Bitcoin จะถูกกดดันอย่างหนัก แต่นับต้ังแต่ต้นปี 2023 มาจนถึงปัจจุบัน ราคา Bitcoin ได้ปรับตัวสูงขึ้น 50% จากต้นปี สาเหตุหนึ่งมาจากความคลายกังวลเรื่องท่าทีของ FED ต่อการรับมือเงินเฟ้อว่าจะเป็นในลักษณะผ่อนคลาย (Dovish) มากขึ้น แต่ในด้านพื้นฐานนั้นได้ต่างออกไป

สิ่งหนึ่งที่หลายคนให้ความสนใจมากนั่นก็คือ Hash Rate ของ Bitcoin ที่กลับทำ New High ใหม่เรื่อยๆ สวนทางกับราคาทำให้หลายคนสงสัยว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะการที่ราคาบิตคอยน์ตกลงมามากขนาดนี้ก็น่าจะมีเหมืองขุดปิดตัวหรือปิดเครื่องขุดกันไปจำนวนมากแล้ว ซึ่ง Hash Rate ก็น่าจะลดลงเช่นเดียวกับราคา แต่จากสถิติช่วงปี 2018 ที่ราคาตกหนักก็มี Hash Rate ที่สูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้การใช้เครื่องขุด ASIC รุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและการแสดงหาไปใช้พลังงานทางเลือกราคาถูกก็ช่วยผลักดันให้ Bitcoin รักษ์โลกพร้อมกับมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของการใช้งานจริงก็มีมากขึ้นเช่นกัน โดย El Salvador เป็นประเทศแรกที่ประกาศให้ Bitcoin สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแล้วในปัจจุบันไม่ได้มีปัญหาอย่างที่หลายคนคาดการณ์ อาจจะเป็นชนวนครั้งใหญ่ที่ทำให้หลายประเทศที่ค่าเงินของประเทศตัวเองเริ่มล่มสลายเริ่มมอง Bitcoin เป็นทางเลือกได้

ซึ่งปัจจุบันนั้น Lightning Network ของ Bitcoin ที่ทำให้สามารถใช้จ่ายซื้อสินค้าได้รวดเร็วไม่ต่างกับ Promptpay ประเทศไทยแต่ไม่ต้องผ่านตัวกลางใดๆ ก็เริ่มมี Bitcoin ลอคอยู่ในนั้นสูงขึ้น 57% จากปีก่อน และมีการทำธุรกรรมมากกว่า 800,000 ครั้งต่อเดือน สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการเริ่มเป็นที่ยอมรับที่มากขึ้น เพราะมันทั้งสะดวก รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ และเข้าถึงทุกคนได้ทุกที่เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต

ยังมีอีกหลายบริษัทที่มีไอเดียในการพัฒนา Bitcoin ให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น เรามองว่าปี 2023 นี้จะมีอีกหลายโปรเจกต์ที่ทยอยเปิดตัวให้เราได้ติดตาม ซึ่งอาจจะไม่ได้สะท้อนเข้าไปในราคาให้พุ่งสูงขึ้น แต่จะเป็นการวางรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่อพร้อมจะทันเทียมกับระบบ CBDC ที่หลายประเทศจะเริ่มใช้งานในปีนี้เช่น จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ดังนั้น แนวโน้มราคาภายในปี 2023 จึงอาจอยู่ในกรอบกว้าง 15,500–37,000 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบาย FED ว่าจะมีความ Aggressive มากน้อยแค่ไหนในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อในปีนี้ พร้อมกับผลกระทบที่อาจจะมีต่อเนื่องจากการการล่มสลายของ FTX และการคุมเข้มจากภาครัฐในประเทศต่างๆของคริปโทเคอร์เรนซี เราจึงไม่มองว่าปีนี้ Bitcoin จะกลับไปทำ All time high แต่ก็ไม่เห็นด้วยว่าข่าวร้ายเหล่านี้จะกดดันให้เกิด New low ในระยะสั้นต้องทะลุแนว 25,200 ดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นแนวต้านสำคัญไปให้ได้

พัฒนาการของ Ethereum หลังจาก The Merge

The Merge เป็นการอัปเกรดครั้งใหญ่ที่สุดในปี 2022 ที่ส่งผลให้ Ethereum นั้นมีพื้นฐานการทำงานที่ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างมาก ทั้งการปรับจาก Proof of Work เป็น Proof of Stake ที่ช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 99.95%, การลดการเฟ้อของ ETH ลงมากกว่า 95% และการเปิดช่องทางการพัฒนา Ethereum จาก Monolithic เป็น Modular ช่วยให้เกิดการต่อยอดได้หลากหลายและพัฒนาได้รวดเร็วขึ้น

ในตอนนี้ผ่านไปประมาณ 6 เดือนจากการอัปเกรด ปี 2023 จะมีการอัปเกรดอย่างน้อย 2 ครั้งที่ควรจับตามองคือ “Shanghai Upgrade” ที่คาดว่าจะเกิดในช่วงปลายเดือนมีนาคม โดยอัปเกรดนี้จะอนุมัติการถอน ETH จาก Beacon Chain ได้ ซึ่งมีหลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดแรงเทขายอย่างหนักเพราะ ETH จำนวนนี้ถูกลอคมานานกว่า 2 ปี จากการวิเคราะห์ของเราคาดว่าอาจจะมีการ Panic ในระยะสั้นเพราะความกังวล แต่มันจะไม่ร้ายแรงอย่างที่คิดเพราะจะมีการฝากที่มากขึ้นเช่นกันเพราะนักลงทุนจะไม่ถูกลอค ETH โดยไม่มีวันปลดตายตัวอีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีระบบการทยอยปลดทำให้ไม่มีเงินก้อนใหญ่โถมเข้าใส่ตลาดทันที และด้วยปัจจัยด้านอื่นๆทำเรามองว่าการอัปเกรดรอบนี้จะราบลื่นและส่งผลเชิงบวกต่อ Ethereum

อีกอีปเกรดหนึ่งที่ควรจับตาคือ “ข้อเสนอ EIP 4844: Proto-Danksharding เป็นข้อเสนอในการลดค่าธรรมเนียมใน Layer 2 ของ Ethereum ให้ถูกลง 10–100 เท่า ทำให้จุดอ่อนเดียวของ Ethereum เรื่อง Scalability ได้หมดไป เราอาจจะได้เห็นการย้ายเม็ดเงินลงทุนจาก Blockchain Layer 1 ตัวอื่นๆ ไปที่ Layer 2 ของ Ethereum อย่างเช่น Optimism หรือ Arbitrum ก็เป็นไปได้ โดยอัปเกรดนี้คาดว่าจะได้ใช้งานจริงภายในครึ่งปีหลังของ 2023

DeFi ในยุคที่คนเริ่มไม่เชื่อใจในตัวกลาง

วิกฤต FTX ล้มละลายนั้นเป็นการแสดงข้อเสียที่ชัดเจนในการฝากเงินของเราไว้กับ “ตัวกลาง” เพราะเราต้องเชื่อใจตัวกลางนั้นว่าจะดูแลเงินของเราได้ดี ซึ่งหลายครั้งแล้วที่ “ความเชื่อใจ” นี้ได้ถูกหักหลังมาโดยตลอด จึงเกิดเป็นกระแส “Decentralized Finance หรือระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง” เกิดขึ้นมา โดยเงินของเราจะอยู่ใน Wallet ที่มีแต่เราเท่านั้นที่ควบคุมได้ ในช่วงที่ FTX ล้มละลาย การใช้งาน DeFi สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์และยังมีแนวโน้มการใช้งานที่มากขึ้นเรื่อยๆ

พัฒนาการของ DeFi ในช่วงปี 2023 ก็มีความน่าสนใจมากเช่นกัน โดย Uniswap จะมีทั้งเรื่องลิขสิทธิ์ของ Concentrated Liquidity ที่กำลังจะหมดในเดือนเมษายน และการปรับ Tokenomics Fee Switch จะทำให้เหรียญ UNI มี Use case จริงนอกจากการโหวต

MakerDAO เจ้าของ DAI Stablecoin กับ Endgame Plan ที่ต้องการจะปลดแอกตัวเองสินทรัพย์ที่ค้ำประกัน DAI ให้มีความกระจายศูนย์มากขึ้น โดยปีนี้เราจะได้เห็น Phase 1 คือการเร่งการใช้งาน DAI และการสร้าง MetaDAO เพื่อดูแล MakerDAO ควบคู่กันไป

AAVE และ Curve ที่ต้องการจะสร้าง Stablecoin GHO และ crvUSD ของตัวเอง จะเพิ่มสภาพคล่องในตลาดเพื่อรองรับเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่จากสถาบันได้ดีมากขึ้น และ Ecosystem ของ AAVE ที่มี Lens Decentralized Social Media จะสามารถทำให้คนทำการกู้โดยอาศัย “เครดิต” ต่างจากเดิมที่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกันเท่านั้น

เทรนด์สุดท้ายที่น่าจับตามองคือการใช้ “สินทรัพย์ในโลกจริง (Real-world Asset)” มาประสานรวมเข้ากับ DeFi เช่นการใช้เงินในคลังของ MakerDAO ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ การนำอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้ DAI และการทำ Tokenization หุ้นกู้เป็นเหรียญเพื่อให้นักลงทุนใน DeFi ของ Ondo Finance เราคาดว่าปี 2023 จะได้เห็นการประสานกันมากขึ้นระหว่าง Traditional Finance และ Decentralized Finance

แบรนด์ชั้นนำเข้าสู่ตลาด NFT

กระแสศิลปินที่สามารถขายผลงาน NFT แล้วได้กำไรมหาศาลจนดึงดูดศิลปินให้มาสร้างสรรค์ผลงานบน Blockchain มากขึ้นถือเป็นกระแสที่มาแรงมากในช่วงปี 2021–2022 จนช่วงกลางปี 2022 ที่เราเริ่มเห็นขาลงของตลาด NFT มีเพียงไม่กี่โปรเจกต์เท่านั้นที่ยังอยู่รอด และหลายโปรเจกต์ที่ถอนตัวออกไป

แต่สำหรับแบรนด์สินค้านั้นมอง NFT ในมุมที่แตกต่างออกไปและเห็นว่าเป็นช่องทางหนึ่งในการเพิ่มคุณค่าให้แบรนด์และลูกค้า ในปี 2022 จะเห็นการเข้ามาของแบรนด์มาอย่างต่อเนื่องจากหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่ต่างก็เข้ามาเพื่อต้องการสร้าง Loyalty Program ในส่วนนี้ เช่น Starbucks Odyssey ที่จะมาเป็น Loyalty Program แบบใหม่ของ Starbucks, Tag Heuer, Rimowa, Tiffany and Co., Dolce & Gabbana นอกจากนี้ยังรวมไปถึง Social Media อย่าง Facebook, Instagram, Reddit และ Twitter ที่จะนำ NFT ไปใช้งานอีกด้วย ล่าสุด Donald Trump อดีตประธานธิบดีก็มีการออก NFT เป็นของตัวเองเช่นกัน ส่วนปี 2023 ก็มี Prosche ที่เข้าสู่วงการ NFT และ Ferrrari ก็ประกาศว่ามีแผนเช่นกัน ดังนั้นปีนี้เราจะได้เห็นตลาด NFT มีความคึกคักมากขึ้นอย่างแน่นอน พร้อมกันกับ Use case ใหม่ๆที่ทำให้แต่ละบริษัทจะนำมาประยุกต์ใช้ NFT เข้ากับแบรนด์ตัวเอง

Regulation ที่ต้องสะสางให้จบ

หากจะให้เลือกหนึ่งเรื่องในปี 2023 ของคริปโทเคอร์เรนซี ควรให้ความสนใจกับเรื่องใด้ที่สุดก็คงต้องเป็น “Regulation หรือกฎเกณฑ์ข้อบังคับจากภาครัฐ” มากที่สุด เราเห็นได้จากการเข้มงวดเรื่อง Stablecoin มากขึ้นหลังจาก UST ของ Terra มูลค่าแทบจะเหลือ 0 ดอลลาร์สหรัฐ และการมาเห็น FTX รวมถึง CeFi ต่างๆประกาสล้มละลายจำนวนมาก ทำให้ ก.ล.ต. และหน่วยงานภาครัฐต่างๆต้องเข้ามาทำหน้าที่ปกป้องผู้บริโภคไม่ให้เจอเหตุการณ์เหล่านี้อีก ดังนั้นเราจะเห็นการฟ้องร้องหรือการออกข้อบังคับต่างๆที่บีบให้บริษัทหรือโปรเจกต์ต่างๆแสดงความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ข้อดีก็จะทำให้เราปลอดภัยและสบายในการลงทุน แต่บางครั้งกฎระเบียบที่ยุ่งยากมากเกินไปอาจจะขัดขวางพัฒนาการในวงการคริปโทเคอร์เรนซีได้เช่นกัน

ในปี 2023 นี้เริ่มต้นปีด้วยกรณีที่ ก.ล.ต. ฟ้อง Paxos ผู้ออก BUSD ในข้อหาทำ “หลักทรัพย์ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน (Unregistered Security)” ซึ่งเป็นเคสเดียวกันกับ XRP ของ Ripple และ ETH ก็โดนเช่นกันซึ่งทั้งสองยังไม่ได้ข้อสรุป หาก BUSD มีความผิดจริงจะกระทบภาพรวมตลาดยอ่างมากเพราะ Stablecoin มีความเสี่ยงในการเป็น “หลักทรัพย์” น้อยที่สุดแล้ว หากผิดจริงจึงอาจเทียบได้ว่าคริปโทเคอร์เรนซีทุกชนิดเข้าข่ายหลักทรัพย์และต้องไปขึ้นทะเบียนและรายงานงบแก่ ก.ล.ต. ทั้งหมด ส่วนคดีของ XRP นั้นมีการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์หลายแห่งว่าบทสรุปของคดีจะจบในปีนี้ และอาจนำไปใช้เป็นการอ้างอิงกับคดีต่อไปได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงมีความสำคัญมากเช่นกัน

อีกเรื่องหนึ่งที่ Paxos ได้รับคือการสั่งจากหน่วยงานภาครัฐที่คอยควบคุมบริการทางการเงินในนิวยอร์ก (NYDFS) ซึ่ง “หยุดผลิต BUSD” ทันทีจากความเกี่ยวข้องกับ Binance ซึ่ง Paxos ต้องปฏิบัติตามทันที มีการคาดการณ์จากหลายส่วนว่าการเล่นงาน BUSD Stablecoin รอบนี้อาจจะเป็นการปูทางเพื่อนำไปสู่ Central Bank Digital Currency (CBDC) ก็เป็นได้ เนื่องจากปีนี้มีหลายประเทศเช่น ญี่ปุ่น จีน รัสเซีย และจีน มีแผนจะใช้งานจริงในปีนี้ ซึ่งเราจะได้เห็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลและการพัฒนา CBDC ในหลายประเทศอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องคดีการล้มละลายของ FTX ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับเจ้าหนี้ที่ยังเหลือค้างอยู่ และการรุกเข้ามาควบคุม Ethereum Blockchain ของ OFAC ซึ่งเป็นหน่วยงานสหรัฐฯ ผ่านการบังคับให้ MEV Relayer ห้ามรับธุรกรรมใน Blacklist ของ OFAC จะทำให้ Ethereum ไม่มีเรื่อง Censorship-Resistance อีกหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองในปีนี้ว่าจะมีการแก้เกมอย่างไร

บทสรุป

แม้ว่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซีจะเป็นตลาดที่ใหม่และยังมีความไม่แน่นอนสูง ยังต้องการเวลาเพื่อใช้ในการพิสูจน์ว่าโปรเจกต์ที่ทำมาแต่ละอย่างนั้นมีคุณค่า และสามารถใช้งานได้จริงในระดับบ Mass adoption หรือจะเป็นเพียงแค่การดึงดูดเม็ดเงินเพื่อทำกำไรเท่านั้น ทำให้การลงทุนในนี้มีทั้งความเสี่ยงในการสูญเสียเม็ดเงินลงทุนได้ แต่หากเลือกโปรเจกต์ที่ถูกต้องก็เหมือนกับการได้ลงทุนในยุคบุกเบิกของตลาด ผลตอบแทนที่ได้นั้นจะคุ้มค่าอย่างแน่นอน การคัดเลือกโปรเจกต์และจังหวะในการลงทุนที่ถูกต้องนั้นจึงมีความสำคัญอย่างมาก ต้องดูทีมว่ามีประวัติและวิสัยทัศน์ของโปรเจกต์เป็นอย่างไร, มี Key success factor ที่มีโอกาสกิน Market Share ในอนาคตหรือรักษาฐานผู้ใช้งานให้คงที่ได้อย่างไร, นักลงทุนรอบ Seed มีใครบ้างและระดมทุนได้เงินเท่าไหร่ เพื่อนำไปต่อยอดโปรเจกต์ด้านไหน, Narrative ของตลาดในตอนนั้นเอื้อต่อโปรเจกต์หรือไม่ และสุดท้ายคือโมเดลการออกแบบเหรียญ (Tokenomics) ว่ามีการใช้งานอย่างไร มีอัตราการเฟ้อ มีการแจกในกลุ่ม Early Investor อย่างไร แล้วนำปัจจัยทั้งหมดนี้มาวิเคราะห์และให้คะแนนก่อนการลงทุน พร้อมทั้งกระจายความเสี่ยงหากในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน

เราเชื่อมั่นว่าในปี 2023 แม้จะดูไม่สดใสมากนัก แต่ก็เป็นจังหวะที่ดีมากในการลงทุนในช่วงที่ตลาดปรับตัวอยู่ในช่วงด้านล่าง เพราะฉะนั้นโอกาสในโปรเจกต์คริปโทเคอร์เรนซียังน่าสนใจมากสำหรับนักลงทุนในระยะยาวครับ : )

--

--

Parit Boonluean (พริษฐ์ บุญเลื่อน)

Co-founder Wise energy solution. No types of articles, Depend on subject I am interesting with, mostly book summary, economics, lifestyle, DeFi, Solar energy