ความรู้สึกหลังอ่าน China Endgame ของอาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดร

เป็นหนังสือส์วิเคราะห์เศรษฐกิจและประวัติศาสตร์จีนเล่มที่ 5 แล้ว ไม่รู้จะสรุปออกมายังไงเพราะชอบหมด แต่ละเรื่องเป็นบทความสั้น 3–5 หน้ารวมกัน เลยคิดว่าไปอ่านเองน่าจะครบถ้วนมากกว่า เลยจะมาเล่าความชอบว่าตกตะกอนเรื่องไหนให้ฟังและกันครับ

1. สามก๊ก เทียบกับ สหรัฐ จีนและรัสเซีย

ในเรื่องสามก๊ก ก๊กโจโฉเป็นก๊กที่แข็งแกร่งรอบด้าน รองลงมาคือก๊กซุนกวนที่เศรษฐกิจดี แต่กำลังทหารไม่เก่ง ส่วนก๊กเล่าปี่ยากจน แต่รบเก่ง ดังนั้นก๊กซุนกวนและเล่าปี่ที่เป็นเบอร์รองจะจับมือร่วมกันสู้ก๊กโจโฉด้วยคติที่ว่าศัตรูของศัตรูคือมิตร

เทียบกับสหรัฐที่ตอนนี้ยังเป็นเบอร์หนึ่งในทุกอย่าง เท่ากับ ก๊กโจโฉ เทียบจีนเป็นก๊กซุนกวนเพราะตอนนี้ยังเป็นเบอร์รองกว่า แต่เติบโตด้านเศรษฐกิจมาก และรัสเซียที่เศรษฐกิจเล็กสุด แต่ก็มีเรื่องการรบและอาวุธนิวเคลียร์ที่ไม่เป็นรองใคร ตอนนี้เหมือนทั้งสองต้อง (จำใจ) ร่วมมือกันเพื่อต่อต้านสหรัฐ

2. ความแตกต่างของการรบจีนและรัสเซีย

เล่าปี่ต้องการสู้รบเพื่อชนะโจโฉ แต่ซุนกวนเน้นที่การเติบโตภายใน รอวันโจโฉอ่อนแอลง แล้วค่อยๆเปลี่ยนผ่านให้บ้านๆ เมืองไม่ปั่นปวน จนปกครองได้ง่ายในระยะยาว

เหมือนรัสเซียที่เน้นทำสงครามเชิงรุก แต่จีนเน้นพัฒนาเศรษฐกิจและหวังขึ้นมาเป็นผู้นำร่วมกับสหรัฐ

3. เล่าปี่ต้องรุกเพื่ออยู่รอด

เช่นเดียวกับรัสเซียที่เป็นประเทศขาลง ในตำราพิชัยสงครามบอกว่า “ยิ่งอ่อนแอยิ่งต้องรุก” ไม่ใช่เพื่อทำลายศัตรู แต่เพื่อรักษาฐานอำนาจของตนและสร้างความสามัคคีในก๊ก รัสเซียเลยต้องทำทุกวิธีทางไม่ให้โดนบีบจาก NATO และจากค่านิยมประชาธิปไตย

4. จีนและรัสเซียร่วมมือกันแบบหลวมๆ

ตามพงศาวดารจะเล่าว่าเล่าปี่และซุนกวนร่วมมือกันแบบหลวมๆ เช่น ก๊กซุนกวนส่งกองทัพไปแต่ไม่ได้สั่งให้ร่วมโจมตีแบบจริงจัง หมายถึงการไม่ช่วยเต็มที่ แต่ก็ไม่ได้อยู่ฝั่งก๊กโจโฉเช่นกัน รอดูท่าทีว่าจะชนะแน่จึงช่วยสุดกำลัง

เทียบจีนและรัสเซียที่จริงๆแล้วก็มีปัญหากันมาอดีต แต่ตอนนี้ทั้งสองโดนสหรัฐเล่นงานจึงจำใจต้องร่วมมือกัน อย่างสงครามรัสเซีย-ยูครนที่ดูยืดเยื้อนานกว่าที่คิด จีนเลยไม่ออกตัวแรง เพราะไม่ต้องการหักกับสหรัฐและตะวันตกเพราะต้องพึ่งพาด้าน เศรษฐกิจ และไม่คว่ำบาตอย่างที่ฝั่งสหรัฐอยากให้ทำเช่นกัน

5. สหรัฐมองจีน

แม้ว่ายิ่งเวลาผ่านไปเราจะเห็นสหรัฐเดินก้าวผิดพลาดบ้าง แต่ก็ยังเป็นอันดับหนึ่งแบบทิ้งห่างทั้งสองอยู่ แต่ก็เสียวๆว่าจีนอาจจะมาตอนไหนก็ได้ ตอนนี้เลยเห็นสหรัฐเล่นงานจีนอยู่ตลอด ทั้งถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถานและพยายามตัดกำลังทุกวิถีทาง

6. สปอยตอนจบของสามก๊ก

สุดท้ายคนชนะไม่ใช่คนแกร่งที่สุดอย่างโจโฉ หรือมีคุณธรรมอย่างเล่าปี่ ฉลาดแบบขงเบ้ง

แต่เป็น “สุมาอี้” ที่ปรึกษาของโจโฉ, คู่ปรับที่ขงเบ้งไม่สามารถชนะได้, ทำตัว Low Profile จนได้โอกาสชิงแผ่นดินของตระกูลโจที่สืบต่อกันมากว่า 4 รุ่นโดยการรัฐประหารภายในวันเดียว

7. สามก๊กในปัจจุบัน

สุดท้ายคนที่อึดที่สุดคือผู้ชนะ แม้ไม่ชนะรุ่นนี้ก็ปูทางให้รุ่นลูกหลานทำได้สำเร็จ ศึกสามก๊กในตอนนี้ก็วัดกันว่าศึกทางการรบระหว่างสหรัฐที่หนุนยูเครนสู้กับรัสเซีย, ศึก เศรษฐกิจ ระหว่างสหรัฐกับจีน และศึกอื่นๆอีกมาก ใครจะอยู่อึดกว่าอีกฝ่าย

8. ปัญหาของแต่ละประเทศ

  • สหรัฐและตะวันตก Sanction รัสเซียหวังให้เศรษฐกิจพัง
  • แต่ปูตินก็สู้กลับด้วยการตัดพลังงาน
  • ยุโรปตอนนี้ต้นทุนพลังงาน/แก๊สแพงขึ้นมาก
  • สหรัฐอาจตายเพราะภัยตัวเองอย่างเงินเฟ้อและการเลือกตั้ง
  • จีนมีวิกฤตอสังหา/ Zero Covid/ ไต้หวันและสืบทอดอำนาจ
  • แล้วไทยเราพร้อมรึยัง???

9. ความชอบเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้

ใครไม่ค่อยได้ตามข่าวเกี่ยวกับจีน แนะนำเล่มนี้ (และอีก 4 เล่มก่อนหน้า) มากครับ ที่ผมเล่ามันคือภาพกว้าง ข้างในมีแนวคิดเจ๋งๆ ที่มองภายนอกอาจจะแปลกใจว่าตัดสินใจผิดแล้ว ซึ่งพอมาวิเคราะห์ดูมันคือก้าววางหมากหลายก้าวมาก

เล่มก่อนหน้านั้นอาจารย์เปรียบเทียบว่า สหรัฐกำลังมองศึกเป็นหมากรุกที่ชนะไปตาๆ แต่สำหรับจีนมองเป็นเกมหมากล้อมที่แพ้ศึกเล็กน้อยได้ แต่ภาพรวมศึกใหญ่จะชนะ กลยุทธ์ที่ออกมาจึงยั่งยืนมากกว่าในระยะ เช่น

  • การเจาะลูกโป่งวิกฤตอสังหาทีละน้อย การลด Soft Tech ไป Hard Tech
  • อย่าง Zero Covid ที่ทำให้ เศรษฐกิจ จีนแย่มากในตอนนี้ แต่จริงๆอาจจะเป็นการซ้อมว่าถ้าโดน Sanction จีนเองจะบริโภคภายในประเทศอย่างเดียวไหวหรือไม่
  • การไม่ทำสงครามกับสหรัฐแม้จะโดนหยามอย่างหนักจาก Nancy ไปเยือนไต้หวัน

แต่หนังสือก็ไม่ได้เชียร์จีนหนักขนาดนั้นเพราะชี้ปัญหาภายในเหมือนกัน

10. ในหนังสือเล่มนี้จะแบ่งพาร์ท

  • เรื่องสงครามยูเครน-รัสเซีย และจีน-ไต้หวัน ว่าแต่ละฝ่ายมีท่าทีออกมาอย่างไร มีการวิเคราะห์จากหลายๆมุม
  • การหยุดของโลกาภิวัฒน์ เป็นการโฟกัสที่ Supply Chain รูปแบบใหม่ๆ
  • วิเคราะห์สีจิ้นผิงและวิกฤตภายในประเทศ ว่ามันก็มีเรื่องหมกอยู่เยอะ

ขอจบเท่านี้แล้วก็ครับ อยากให้ทุกคนมาลองอ่านกันเอง เพราะบทนึงมัน 3–5 หน้า ทยอยอ่านไปเรื่อยๆ แล้วยิ่งอ่านจะยิ่งว้าวกับโลกฝั่งจีนที่มีผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ให้

อ่านมากๆ ระวังเผลอกดซื้อกองทุนจีนนะครับ 😂ตลาดช่วงนี้ยังผันผวนหนักอยู่ ยังไงก็ลงทุนด้วยความระมัดระวังนะครับ 😀

--

--

Parit Boonluean (พริษฐ์ บุญเลื่อน)

Co-founder Wise energy solution. No types of articles, Depend on subject I am interesting with, mostly book summary, economics, lifestyle, DeFi, Solar energy