[Exploit] Anchor ธนาคารในโลก DeFi ที่ให้ดอกเบี้ย 20% ต่อปี
[Update: 13/05/2022] ตอนนี้ UST มูลค่าเข้าใกล้ศูนย์แล้วครับ ผมขอโทษถ้าใครอ่านลทความนี้แล้วลงทุนตามนะครับ
อ่านไม่ผิดครับ ในโลกนี้มีธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยคงที่ประมาณ 20% ต่อปีจริงๆ และไม่ใช่เรื่องหลอกหลวงหรือ Scam อย่างแน่นอน แต่เราจะเจอมันในโลก DeFi เท่านั้น เดี๋ยวผมจะเล่ารายละเอียดให้ฟังนะครับ
บทความนี้จะมีหัวข้อประกอบด้วย
- รายละเอียดของธนาคาร Anchor
- ทำไมถึงควรฝากเงินใน Anchor
- กลไกการทำงานของ Anchor/
- ขั้นตอนการนำเงินบาทไปฝากเงินใน Anchor
- ข้อควรระวังในการฝากเงินใน Anchor
- สรุป
- มีอะไรใน Terra Chain อีก
รายละเอียดของธนาคาร Anchor
ชื่อธนาคาร: Anchor Protocol
Chain: Terra Blockchain
เปิดตัว: 17 มีนาคม 2021
สกุลเงิน: UST (เทียบเท่า USD)
รูปนี้คือหน้าฝากเงินใน Anchor จริงๆ
- Total Deposit: จำนวนเงิน UST ที่เราฝากเข้าไปใน Anchor
- Interest: อัตราดอกเบี้ย ณ ขณะนั้น จะอยู่ประมาณ 19% — 20%
- หัวข้อถัดไปเช่น Borrorw, Bond, Govern จะสอนในบทความถัดไปครับ เราสามารถเป็นฝ่ายกู้ UST เพื่อไปลงทุนที่อื่นได้เช่นกัน (แต่ต้องมีสินทรัพย์มาค้ำประกันก่อนนะ)
หากเรามี UST ในมือแล้ว เพียงแค่กด Deposit ก็จบครับ ซึ่งระบบจะจ่ายดอกเบี้ยทุกวันและทบต้นให้เรื่อยๆ เราพอใจจะออกเมื่อไหร่ก็กด Withdraw ได้ตลอดเวลา แต่การจะแลก UST มาได้จะสอนในด้านล่างครับ
ทำไมถึงควรฝากเงินใน Anchor
- เงินเฟ้อ (Inflation)ที่สูงขึ้น: ในขณะที่อเมริกาอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบมหาศาลจาก Stimulus Package เพื่อช่วยอุ้มเศรษฐกิจ ทำให้เราได้เห็นการอัดเงินจำนวนมหาศาลแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ดูจากกราฟด้านบนก็คงเห็นได้ว่าเงินดอลลาร์มันเพิ่มขึ้นจาก 4,000 Billion USD ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 เป็นเกือบ 20,000 Billion USD ในตอนนี้ สิงหาคม 2021 เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน และข่าวร้ายคือหลายประเทศก็ทำแบบนี้เช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่กับประเทศไทยที่มีนโยบายอัดฉีดเงินต่างๆให้เราได้เห็นกัน
- เงินบาทอ่อนค่า: เป็นเรื่องตลกร้ายที่แม้ว่าอเมริกาจะพิมพ์เงินมหาศาลมากขนาดนี้ เงินบาทกลับอ่อนค่าลงเทียบกัน เหตุผลมีได้หลายสาเหตุเลยครับ ผมก็ไม่แน่ใจว่าเรื่องไหนส่งผลมากที่สุด แต่เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าการจัดการโควิดที่แย่กว่าชาติอื่นๆส่งผลให้เงินต่างชาติไหลออกไปลงทุนที่ประเทศอื่นที่มีศักยภาพมากกว่า นอกจากนี้ประเทศไทยเป็น Old economy ไม่มีบริษัทเทคโนโลยีที่เป็นเทรนด์ในอนาคต สังคมไทยเริ่มเข้าสู่ผู้สูงอายุ และอื่นๆทำให้การถือเงินบาทมีแต่จะด้อยค่าลง
- ผลตอบแทนที่ไว้ใจได้: Anchor ให้ผลตอบแทนประมาณ 20% ต่อปีในอัตราที่คงที่และไว้ใจได้ หลายท่านที่เก่งแล้วอาจจะหาได้มากกว่านี้จากการลงทุนในหุ้น กองทุนหรืออื่นๆ แต่ถ้าเราเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารในไทยประมาณ 0.25% — 1% แล้วก็ชนะขาดครับ
เมื่อลองอ่านเหตุผลดูแล้ว รู้สึกถึงความสำคัญของการรักษาเงินของเราให้มีอำนาจในการใช้สอย (Purchasing power) เท่าเดิมรึยังครับ หากเราทำงานเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่ศึกษาเรื่องการลงทุนเลย สุดท้ายเงินเฟ้อก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆจนเงิน 40 บาทในวันนี้ซื้อข้าวได้ 1 มื้อ แต่อนาคต 40 บาทอาจจะไม่พอซื้อแล้วก็ได้
ท้าวความมานาน ผู้อ่านคงอยากฝากเงินที่นี้กันแล้ว แต่ก่อนจะฝากผมอยากให้เข้าใจระบบการทำงานของมันก่อนลงทุนครับ
กลไกการทำงานของ Anchor
- ให้ลองนึกภาพของกลไกธนาคารทั่วไปครับ การที่ธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ฝากได้นั้นคือการเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้เงิน
- MLR (Minimum Loan Rate) MRR (Minimum Retail Rate) และ MOR (Minimum Overdraft Rate) เป็นการแบ่งประเภทลูกค้าครับ ยิ่งเป็นรายใหญ่หรือเครดิตดีก็จะได้เรท MLR ที่ต่ำที่สุด
- จะเห็นได้ว่าดอกเบี้ยกู้จะอยู่ระหว่าง 4.875% — 7% หากย้อนกลับไปด้านบน ดอกเบี้ยรับได้อยู่ 0.25% — 1% เท่านั้น ส่วนต่าง 3.875% — 6.75% นี่คือเข้ากระเป๋าธนาคารเต็มๆเพื่อใช้จ่ายค่าดำเนินการ ค่าพนักงานหรือกำไรของธนาคารครับ
- Anchor เองก็ไม่ต่างกันครับ แต่เนื่องจากธนาคารแห่งนี้ใช้ Code ในการดำเนินการ เพราะฉะนั้นจะมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นมา ผมจะแสดงภาพรวมการทำงานของระบบให้ดูในรูปด้านล่างครับ
Alice ผู้ฝาก: ฝากเงิน UST ตามจำนวนที่ต้องการ ดอกเบี้ยจะทบต้นให้ทุกวัน ทำให้เราจะถอนเมื่อไหร่ก็ได้ดอกเบี้ย
Bob ผู้กู้: ในโลก DeFi นั้น ไม่มีใครทราบว่าเราเป็นใคร เครดิตดีหรือจ่ายเงินตรงเวลาตลอดหรือไม่ เพราะฉะนั้นการจะกู้เงินได้จึงจำเป็นต้องวางสินทรัพย์ค้ำประกันไว้อย่างน้อย 60% ของยอดเงินกู้นั้น ในปัจจุบัน Anchor อนุญาตให้นำเหรียญ Luna วางค้ำได้ และในอนาคตจะสามารถนำ polkadot (DOT), solana (SOL), Ethereum (ETH) and cosmos (ATOM) มาวางค้ำได้เช่นกัน ระหว่างที่ฝากนั้นระบบจะหักดอกเบี้ยจ่ายผ่านการหักสินทรัพย์ค้ำประกันออกและให้เหรียญ ANC เป็นรางวัลสนับสนุนผู้กู้
Yield Reserve: เป็นคลังสำรองที่เก็บกำไรส่วนต่างจากการปล่อยกู้นั้นมาเก็บไว้ นอกจากนี้ Luna ที่นำมาค้ำประกันนั้นระบบจะนำไปฝากใน Node ต่างๆเพื่อรับผลตอบแทนประมาณ 7.5% ต่อปีอีกด้วยและนำกำไรนั้นมาเก็บในนี้เช่นกัน
หากเกิดสถานการณ์ที่จำนวนเงินที่ต้องให้แก่ผู้ฝากสูงกว่ารายได้จากการปล่อยกู้ ระบบจะดึงเงินส่วนนี้ออกมาสำรองจ่ายไปก่อน ระหว่างนั้นระบบจะเปลี่ยนอัตราการแจกรางวัล ANC ให้สูงขึ้นเพื่อจูงใจให้คนมากู้มากยิ่งขึ้น โดยมีสมการดังนี้
- ถ้า รายได้จากการปล่อยกู้ > รายจ่ายผู้ฝาก: ระบบจำนำเงินส่วนต่างเก็บไว้ และลดการเแจกเหรียญ ANC ลง 15% ทุกสัปดาห์เพื่อลดแรงจูงใจในการกู้
- ถ้า รายได้จากการปล่อยกู้ < รายจ่ายผู้ฝาก: ระบบจะดึงเงินจาก Yield Reserve มาสำรองจ่ายไปพลาง และระหว่างนั้นจะเพิ่มเหรียญ ANC แก่ผู้กู้ 50% ทุกสัปดาห์เพื่อจูงใจผู้กู้ให้มากู้และรับรางวัลตรงนี้
*รายละเอียดของเหรียญ ANC จะยังไม่พูดถึงนะครับเพราะจะเกี่ยวข้องกับฝั่งผู้กู้มากกว่า บทความนี้เน้นเรื่องเกี่ยวกับคนฝากเป็นหลัก แค่ให้เข้าใจการดึงดูดผู้กู้เท่านั้น
ยกตัวอย่างสถานการณ์ปัจจุบันของ Anchor ให้ดูกันดีกว่าครับ
เปิดไปที่ https://app.anchorprotocol.com/
และเปิด Terra Station เพื่อดูผลตอบแทนการฝาก Luna https://station.terra.money/
เท่านี้ตัวแปรต่างๆก็ครบแล้วครับ ผมจะเขียนสมการให้เข้าใจง่ายๆอีกครั้งนะครับ
- รายจ่ายผู้ฝาก = จำนวนเงินฝาก x อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก
- เมื่อแทนในสมการ = $983M x 19.42% = $190.9M
- รายได้จากการปล่อยกู้ = (เงินที่ค้ำไว้ x ผลตอบแทนจาก Node) + (จำนวนเงินที่กู้ x อัตราดอกเบี้ยเงินกู้)
- เมื่อแทนในสมการ = ($1,360M x 7.45%) + ($500M x 22.19%) = $212.27M
จะเห็นได้ว่ารายได้จากการปล่อยกู้นั้นมีมากกว่ารายจ่ายผู้ฝาก ส่วนต่าง $21.37M จะส่งกลับไปที่ Yield Reserve และจะมีการปรับลด ANC 15% ทุกสัปดาห์ และเมื่อดูที่ Dashboard ก็จะเห็นว่าปัจจุบันมีเงินจำนวน $66M สำรองอยู่ใน Yield Reserve แล้วอีกด้วย
พอจะเห็นภาพรวมการทำงานของธนาคารนี้แล้วใช่มั้ยครับ อาจจะยาวหน่อยแต่ถ้าเข้าใจจะทำให้ลงทุนได้อย่างมั่นใจมากขึ้นครับ เพราะมันมีรายละเอียดใหม่ๆที่ต่างจากธนาคารทั่วไปมาก ถ้าใครอ่านแล้วยังสงสัยสามารถสอบถามมาได้ครับ
แปลงเงินบาทเป็น UST เพื่อฝากใน Anchor
ผมจะอธิบายขั้นตอนคร่าวๆนะครับ
0. วิธีง่ายที่สุดคือเติมเงินบาทเข้า Bitazza แล้วซื้อ UST ในนั้นครับ หลังจากนั้นก็ไปที่ขั้นตอน 3
- นำเงินเข้า Binance ด้วยวิธีซื้อ USDT P2P ใน Binance
2. หากมาจาก P2P ให้ย้ายเงินจากหมวด Funding มา Spot ก่อน หลังจากนั้นให้ขาย USDT เป็น UST
3. Withdraw UST ออกไปที่ Terra Chain โดยเราต้องเปิด Wallet จากฝั่งนั้นก่อนถึงจะรู้ว่าเราต้องโอน UST ไปที่กระเป๋าไหน ขั้นตอนนี้ไม่ต้องใส่ Memo (แต่ขาโอนกลับต้องใส่นะ)
ข้อควรระวังในการฝากเงินใน Anchor
- หากรักษา Seed Word ไม่ดี อาจจะโดนขโมยเงินทั้งหมด
- Platform นี้ แม้ว่าจะผ่านการตรวจสอบจาก Audit มาหลายครั้งแล้ว แต่เราก็ไม่ควรนำเงินทั้งชีวิตมาฝากไว้ที่นี่ที่เดียวเพราะอาจจะโดนแฮกได้เช่นกัน (แม้ความเป็นไปได้จะต่ำมากก็ตาม)
- การเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย แม้ตอนนี้ทาง Anchor ตั้งใจกล่าวว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 20% แต่จริงๆแล้วก็สามารถปรับเปลี่ยนทีหลังได้เช่นกัน
- การคงมูลค่า 1 UST ให้มีค่าเท่ากับ 1 USD ใช้หลักการ Seigniorage Stablecoin ซึ่งจะแปลง Luna เป็น UST แบบ 1:1 ตามมูลค่า ทำให้บางครั้งที่ Luna ตกหนักๆ 1 UST ก็มีค่าไม่ถึง 1 USD ได้ (แต่สุดท้ายก็จะกลับมาได้อยู่ดี) รายละเอียดการทำงานดูใน คลิปนี้ ครับ
สรุป
ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ การบริหารที่ห่วยของรัฐบาลและเงินเฟ้อที่กรัดกร่อนเงินในธนาคารของเราให้มีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยลดลง Anchor จึงมาเป็นทางเลือกในการเก็บออมด้วยอัตราดอกเบี้ย 20% ที่สูงกว่าธนาคารในไทยหลายเท่าตัว แต่ผู้อ่านก็จะต้องมีความเข้าใจในการทำงานของมัน การนำเงินเข้ามาฝาก และการดูแลรักษา Seed word ของเราให้ปลอดภัยเช่นกัน
มีอะไรใน Terra Chain อีก
เนื้อหาทั้งหมดของธนาคาร Anchor สำหรับผู้ที่เป็นฝั่งฝากเงินเพื่อรับดอกเบี้ยก็คงมีเท่านี้ครับ วิธีการทำนั้นจะเห็นว่าไม่ยากเลย ผมเองก็มีฝากเงินไว้ในนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ให้ผลตอบแทนตามที่ระบบว่ามาจริงๆครับ เลยอยากจะมาแนะนำให้ผู้อ่านได้ลองเปิดใจศึกษาเรื่องนี้ดู นอกจากนี้ Terra Chain ไม่ได้มีแค่ Anchor เพื่อฝากเงินเท่านั้น ยังมี Mirror ที่เป็นเหมือนตลาดไร้ศูนย์กลางเพื่อให้คนซื้อ-ขายหุ้น Crypto ดัชนี ทองคำ ในโลก DeFi ได้เช่นกัน ผมทำรีวิวไว้ในลิงค์นี้ ลองเข้าไปอ่านได้เลยครับ
สำหรับใครที่มีข้อสงสัยสามารถถามมาใน Facebook: Parit Boonluean หรือ Twitter Parit Boonluean (พริษฐ์ บุญเลื่อน) ได้ครับ หากผมขาดตกบกพร่องอะไรสามารถคอมเม้นท์แลกเปลี่ยนกันได้ครับ ขอบคุณที่อ่านจนจบครับ หวังว่าบทความนี้จะช่วยคนไทยให้มีทางออกในการหาเงินหรือออมเงินนะครับ