ลดค่าไฟถึงสิ้นปี ปีหน้าก็ต้องจ่ายแพงอยู่ดีถ้าไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของค่าไฟฟ้า

https://www.youtube.com/watch?v=lxcvTvHVvpY&t=607s

ไปเจอคลิป เจาะปัญหาค่าไฟแพง จะลดค่าไฟให้ถูกจุด รัฐต้องแก้ปัญหาอย่างไร | KEY MESSAGES #98 ของ The standard เรื่องนี้มา ดีมากกกก ผมทำสรุปให้นะครับ

หลายคนน่าจะเห็นข่าวที่รัฐจะลดค่าไฟเดือนก.ย.- ธ.ค. จากเดิม 4.45 บาทให้เหลือ 3.99 บาท โดยวิธีการลดที่รัฐบาลเศรษฐาใช้ก็คือการยืดการชำระหนี้ของ กฟผ. ออกไปก่อน กับอีกวิธีคือใช้เงินอุดหนุนค่าไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น (ที่สุดท้ายก็ต้องใช้คืนในอนาคต) โดยที่ “ยังไม่แตะปัญหาเรื่องโครงสร้าง” เลยซักนิด

แล้วปัญหาเชิงโครงสร้างนั่นมันคืออะไร ไล่ดูที่ละเรื่องครับ

1. หนี้ไม่ได้หายไปไหน สุดท้ายต้องมีคนจ่าย

ที่บอกว่า “รัฐบาลช่วยประชาชน” ด้วยการลดค่า Ft จริงๆคนรับก็คือ กฟผ. นะครับ ช่วงหลังโควิดที่ผ่านมา กฟผ. ต้องจ่ายเงินส่วนนี้ไปถึง 150,268 ล้านบาท (มีการกู้เงิน 110,000 ล้านบาทเพื่อมาเสริมสภาพคล่อง) แล้วตอนต้นปี 2566 ที่ กกพ. ต้องขึ้นค่า Ft เพราะแบกหนี้ไม่ไหว จนหลายคนรู้สึกว่าค่าไฟแพง ตอนนั้นหนี้ยังเหลือตั้ง 120,000 ล้านบาทนะครับ

เพราะงั้นที่รัฐบาลปัจจุบันลดค่าไฟเหลือ 3.99 บาทถึงสิ้นปี รอดูต้นปีหน้าเลยครับว่าค่า Ft จะเป็นเท่าไหร่

2. นโยบายด้านพลังงานที่เอื้อนายทุน ผู้บริโภคซวย

ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 50% มาจากก๊าซธรรมชาติ เพราะงั้นมาดูราคาที่ซื้อกันครับ

  • สีน้ำเงิน — ราคาก๊าซจากอ่าวไทย ประมาณ 202 บาท คุณภาพดีสุด นำไปกลั่นทำอะไรได้เยอะ และราคาถูกสุดด้วย (ของดีมาก)
  • สีแดง — ราคาก๊าซจากเมียนมา ประมาณ 350 บาท คุณภาพต่ำ ใช้ได้แค่เป็นเชื้อเพลิงโรงงานหรือยานพาหนะ
  • สีเขียว — ราคาก๊าซ LNG ราคาแพงสุดประมาณ 415 บาท คุณภาพต่ำ ใช้ได้แค่เป็นเชื้อเพลิงโรงงานหรือยานพาหนะ
  • สีม่วง — ราคาเนื้อก๊าซ หรือราคา Pool ราคาประมาณ 400 บาท คิดจากการเฉลี่ยราคาก๊าซ 3 แบบครับ

เรื่องแปลกมันอยู่ที่ ผู้บริโภคทั่วไป คิดราคาสีม่วง

แต่ช่วงที่ไทยมีก๊าซธรรมชาติไม่พอ คุณชื่นชม สง่าราศีกรีเซน นักวิชารการอิสระด้านพลังงาน บอกว่า ก๊าซจากอ่าวไทยส่วนหนึ่งที่ขายให้ภาคอุตสาหรรม ไม่ได้คิดตามราคา pool แต่ “คิดตามราคาสีน้ำเงิน” แล้วมีแบ่ง LNG บางส่วนที่เกินไปขายให้ญี่ปุ่นด้วย (ซื้อ 202 บาท ขาย 415 บาท กำไรเหนาะๆ)

กลายเป็นว่าคนไทยต้นทุนก๊าซสูงขึ้นเพราะต้องมีนำเข้าจากต่างประเทศ ???

https://asia.nikkei.com/Business/Energy/Thailand-sells-surplus-LNG-to-Japan-emerging-as-re-exporter

3. การบริหารจัดการจัดการระบบจัดหาพลังงานที่ผิดพลาด และคาดการณ์ไม่แม่นยำ

ดูจากกราฟจะเห็นว่าไฟสำรองของประเทศที่ควรมีในระบบจะผลิตเกินที่ 15% แต่หลังรัฐประหาร 2557 ปริมาณไฟสำรองเยอะขึ้นเรื่อยๆๆๆๆ ปี 2563 สำรอง 60% ปัจจุบันเกินที่ 55%

ทำให้ประชาชนต้องแบกภาระค่าผลิตไฟสำรองที่ไม่ได้ใช้เยอะมากมาหลายปี มันดูผิดปกติมากเลยนะครับ

4. สัญญาไม่เดินเครื่องก็ต้องจ่าย

มีการประกันกำไรให้โรงไฟฟ้าเอกชน เพื่อประกันความเสี่ยงผู้ลงทุน ทำให้รัฐต้องจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย (AP)” ให้โรงไฟฟ้าเอกชน “โดยไม่สนว่าจะเดินเครื่องหรือไม่ก็ตาม” สัญญายาว 25 ปี

ข่าวร้ายคือ ตอนนี้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 12 โรง ไม่เดินเครื่อง 6 โรงแม้แต่วันเดียวครับ >>> ทำให้ต้องจ่ายค่าเดินเครื่อง เดือน เม.ษ. 2,166 ล้านบาทต่อเดือน + จ่ายค่าผ่านท่อส่งแก๊ซธรรมชาติ ที่ไม่มีก๊าซผ่านอีก 700 ล้านบาท

มีเครือข่ายสนับสนุนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม รวมกันจากภาคประชาสังคมและเอกชน ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลใหม่ ให้เปลี่ยนค่าไฟแพงเป็นค่าไฟแฟร์ ด้วยการ “หยุดลงนามสัญญา PPA” ทุกโครงการ ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ พลังงานน้ำขนาดใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้าน ถ่านหิน จนกว่าไฟสำรองจะลดลงสู่ค่ามาตรฐาน

แต่เห็นล่าสุดมี GULF ร่วมทุนกับจีนสร้างโรงไฟฟ้าในลาว แล้วขายไฟฟ้า กับ กฟผ. เรียบร้อยแล้ว สัญญามีระยะเวลา 29 ปี

5. นโยบายสนับสนุนซื้อไฟฟ้าจากรายย่อยก่อนรายใหญ่

ข้อมูลจาก กกพ มีนโยายรับซื้อไฟจากรายย่อยก่อนรายใหญ่ แต่ข้อมูลพบว่า

  • โรงไฟฟ้าขนาดย่อยขาย 4 บาทต่อหน่วย
  • โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ขาย 3.6 บาท ต่อหน่วย

เพราะรายย่อยคิดกำไรบวกเพิ่มที่ 9.33% ในขณะที่รายใหญ่คิด 1.75%

ตรงนี้เหมือนจะดีที่สนับสนุนรายย่อย (แต่ก็ไม่ย่อยมากมั้ง) แต่นั่นแปลว่าต้นทุนค่าไฟที่แพงขึ้น ทุกคนก็จะแบกรับครับ

☀️ข้อเสนอค่าไฟถูกระยะยาว

ดร. สิริภา จุลกาญจน์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์ เสนอว่า

1. กระจายประเภทพลังงานเชื้อเพลิงให้หลายประเภท พึ่งแต่เชื้อเพลิงที่ผลิตไม่ได้ในประเทศ ทำให้ค่าไฟต้องปรับตามราคาตลาดโลก

2. ใช้พลังงานหมุนเวียน ไทยเหมาะมากสำหรับโซลาร์ หรือลม

3. ขายไฟฟ้าสำรองล้นเกิน >>> เวียดนามต้องการใช้ไฟสูงมาก แต่โครงสร้างระบบไฟฟ้ายังไม่พร้อม มีข่าวเวียดนามเวียนดับไฟทั่วประเทศ บางพื้นที่ดับ 7 ชั่วโมง ไทยควรแบ่งขายให้เวียดนาม แทนที่จะเก็บไว้ใช้เพียงอย่างเดียว

4. “หยุดลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้า PPA ทุกโครงการ” ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ พลังงานน้ำขนาดใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้าน ถ่านหิน จนกว่าไฟสำรองจะลดลงสู่ค่ามาตรฐาน

5. Net metering หรือระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า ระหว่างหน่วยไฟที่ใช้จากการไฟฟ้ากับที่ประชชาชนผลิตได้ เพื่อสนับสนุนให้คนติดโซลาร์เซลล์มากขึ้น (แต่คนที่ยังไม่ติดก็จะค่าไฟแพงขึ้น)

คุณเศรษฐาประกาศตอนแถลงนโยบายว่าจะจัดหาแหล่งพลังงานให้เหมาะสม พร้อมส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดหรือหมุนเวียน ตอนนี้ยังเป็นแค่คำพูดเฉยๆ เดี๋ยวรอดูกันไปครับว่าจะทำจริงรึเปล่า เพราะผมดู รมว กระทรวงพลังงาน แล้วไม่มั่นใจไงไม่รู้ 😵‍💫

ใครสะดวกฟังเอง ผมแปะลิ้งค์ไว้นะครับ 16 นาที ไม่นานมาก

https://www.youtube.com/watch?v=lxcvTvHVvpY&t=607s

--

--

Parit Boonluean (พริษฐ์ บุญเลื่อน)

Co-founder Wise energy solution. No types of articles, Depend on subject I am interesting with, mostly book summary, economics, lifestyle, DeFi, Solar energy